มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
Nakhon Si Thammarat Rajabhat University
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
Nakhon Si Thammarat Rajabhat University
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
Nakhon Si Thammarat Rajabhat University
รศ.วิมล ดำศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ให้สัมภาษณ์ “สำนักข่าวสยามเอ็ดดูนิวส์” ว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชเป็น “สถาบันของพระราชา เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น” ยึดพระราชจริยวัติของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นต้นแบบในการดำเนินงานต่างๆ เฉพาะอย่างยิ่งหลักการทรงงานโครงการพระราชดำริ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ของพระองค์ท่าน
โดยที่ผ่านมา ม.ราชภัฏนครศรีธรรมราชได้น้อมนำแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาศึกษาให้เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาเป็นศาสตร์การเรียนการสอนในรายวิชาต่างๆ เช่น ในสาขาวิชาเกษตร ได้น้อมนำแนวพระราชดำริหลักเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ มาศึกษาจนเข้าใจ เข้าถึง และได้พัฒนาเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนในรายวิชา อควาโปนิกส์ ซึ่งจัดการเรียนการสอนแบบเกษตรยั่งยืน ให้นักศึกษาเรียนรู้และสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ และสามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพได้ในอนาคต
วิชาอควาโปนิกส์ เป็นวิชาที่รวมระบบของการเลี้ยงสัตว์น้ำและการปลูกพืชไร้ดินเข้าด้วยกัน เป็นระบบเกษตรที่พึ่งพาซึ่งกันและกันระหว่างปลาและผัก โดยการสร้างโรงเรือนเพื่อปลูกผัก พร้อมกับการเดินท่อน้ำไปยังบ่อเลี้ยงปลา และเดินท่อน้ำจากบ่อเลี้ยงปลากลับเข้าไปในโรงเรือนผัก”
สำหรับรูปแบบการเรียนการสอน จะเริ่มจากการเรียนรู้ในส่วนของทฤษฎี ประมาณ 2 สัปดาห์ และหลังจากนั้นเป็นการเรียนรู้แบบลงพื้นที่จริง โดยให้นักศึกษาลงมือปฏิบัติ คือ เริ่มจากการทำโรงเรือนปลูกผัก ล้างบ่อปลา เดินท่อน้ำ นำปลามาเลี้ยง และเริ่มปลูกผัก โดยผักที่ใช้ปลูกส่วนใหญ่จะเป็นผักกาด ผักบุ้ง และผักที่นำมาทำสลัด
“หลังจากที่ผักและปลาที่ปลูกและเลี้ยงเติบโตอย่างเต็มที่แล้ว นักศึกษาก็จะได้เรียนรู้ถึงวิธีการเก็บเกี่ยว และวิธีการจำหน่ายสินค้า คือเรียนในรายวิชานี้แล้วนักศึกษาก็จะได้ตั้งแต่เริ่มต้นการผลิตจนถึงการจัดจำหน่าย”
รศ.วิมลกล่าวต่อว่า หลังจากสาขาวิชานั้นๆ ได้ศึกษาจนเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาเป็นศาสตร์การเรียนการสอนในรายวิชาต่างๆ จนประสบความสำเร็จในการจัดการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาแล้ว ทางมหาวิทยาลัยจะมีขั้นตอนขยายผลการถ่ายทอดต่อไปยังชุมชนท้องถิ่นเพื่อการพัฒนา
ต้นแบบกระบวนการผลิตบัณฑิต-พัฒนาท้องถิ่นยึดหลักการทรงงาน ร.9