มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช

Nakhon Si Thammarat Rajabhat University

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช

Nakhon Si Thammarat Rajabhat University

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช

Nakhon Si Thammarat Rajabhat University

ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา/รศ.วิมล ดำศรี อธิการบดีมรภ.นครศรีธรรมราชย้ำ สืบสานพระราชปณิธานถ่ายทอดวิถีพอเพียงฯสู่นศ.-ชุมชน






“…การกสิกรรมและอาชีพในด้านเกษตรทุกทุกอย่างย่อมต้องอาศัยปัจจัยสำคัญหลายด้าน ด้านหนึ่งก็คือหลักวิชาของการเพาะปลูก เป็นต้น และอีกด้านหนึ่งก็เป็นการช่วยให้เพิ่มหลักวิชาเหล่านั้น และเมื่อได้ปฏิบัตแล้วได้ผลิตผลแล้วก็จะต้องสามารถดัดแปลงและขายจำหน่ายผลิตผลที่ตนได้ทำ ฉะนั้นทุกอย่างต้องสอดคล้องกัน ความขยันหมั่นเพียรในการผลิต ความรู้ในวิชาการผลิตและความรู้ในการเป็นอยู่ ทั้งความรู้ในด้านจำหน่าย ล้วนเป็นความรู้ที่จะต้องประสานกันหมด…”

พระราชดำรัสพระราชทานในโอกาสที่คณะกรรมการสหกรณ์การเกษตร สหกรณ์นิคม สหกรณ ์ประมง และสมาชิกผู้รับนมสดเข้าเฝ้าฯ ณ โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 8พฤษภาคม2530
ไม่นานมานี้มีโอกาสไปพูดคุยกับอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช(มรภ.นครศรีฯ)ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเลย ในฐานะที่เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยราชภัฏเกือบ 40 แห่งทั่วประเทศที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานนามและตราสัญลักษณ์เป็นตราประจำมหาวิทยาลัยจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

ด้วยทรงวางพระราชหฤทัยให้เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่พึ่งพิงของเยาวชนในครอบครัวท้องถิ่นห่างไกลเมือง โอกาสทางการศึกษาไม่มากนักในการอบรมบ่มนิสัยให้ความรู้ความสามารถทั้งทางวิชาการและประสบการณ์ทักษะเป็นเครื่องมือนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตพัฒนาท้องถิ่นหัวใจสำคัญของเมืองหลวง

คำว่า “ราชภัฏ” หมายความถึง “เป็นคนของพระราชาข้าของแผ่นดิน” เป็นผู้ที่จะได้สนองพระราชปณิธานในการทำงานถวายต่างพระเนตรพระกรรณด้านการถ่ายทอดวิชาความรู้ความสามารถสู่เยาวชนในครอบครัวท้องถิ่นชนบท เป็นที่พึ่งในการอบรมบ่มนิสัยให้ความรู้ความสามารถแก่เยาวชนที่อาจมีโอกาสทางการศึกษาไม่ทัดเทียมคนในครอบครัวที่อยู่ในเมืองใหญ่ที่มีความเจริญรุ่งเรือง อันเครื่องบ่งบอกว่าทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ด้านการศึกษาของประชาชนคนไทยทุกคนเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชน จึงทรงวางพระราชหฤทัยคนราชภัฏให้จัดการเรียนการสอนเยาวชนในครอบครัวท้องถิ่น ซึ่งแน่นอนที่สุด “ราชภัฏ”คนของพระราชาย่อมต้องสนองพระเดชพระคุณได้อย่างดีที่สุด

 


รศ.วิมล ดำศรี อธิการบดีมรภ.นครศรีธรรมราช ในฐานะประธานคณะทำงานโครงการผลิตหนังสือเฉลิมพระเกียรติ “ครูของแผ่นดิน”อันเป็นมติของอธิการบดี มรภ.ทุกแห่งทั่วประเทศที่ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณปลื้มปีติที่จะได้มีโอกาสนำรูปธรรมของแต่ละมหาวิทยาลัยราชภัฎจัดการเรียนการสอนโดยยึดการน้อมนำแนวพระราชดำริมาขับเคลื่อนปลูกฝังเยาวชนสืบสานแนวพระราชปณิธานด้วยรูปธรรมตามแต่ละพื้นที่ภูมิสังคมผ่านคณะวิชาทุกคณะ กิจกรรมการปลูกฝังคุณค่าความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติทั้งภายในรั้วมหาวิทยาลัยและพื้นที่นอกรั้วมหาวิทยาลัยไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ปลูกป่า อนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำ พัฒนาดิน พัฒนาพลังงานประหยัดในรูปแบบต่างๆ อันล้วนแต่ตระหนักถึงสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถรัชกาลที่9และพระบรมวงศานุวงศ์ทรงเป็นต้นแบบทั้งสิ้นเพื่อเน้นย้ำสืบสานพระราชปณิธานถวายเป็นพระราชกุศลได้บอกเล่าถึงการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยโดยมุ่งสืบสานตามแนวพระราชดำริเป็นสำคัญ อธิการบดีมรภ.นครศรีธรรมราชบอกว่าในส่วนของหนังสือเฉลิมพระเกียรติขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ

ถาม รศ.วิมลถึง มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชได้น้อมนำพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาเป็นภารกิจการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยอย่างไรบ้าง

“มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชตระหนักในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 อย่างล้นพ้นที่พระองค์ได้ทรงพระราชทานตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์ให้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้งปวง และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช เมื่อดูจากพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547มหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น เป็นประทีปถิ่น ประเทืองไทย โดยมีบทบาทหน้าที่จะต้องน้อมนำเอาพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์มาปรับใช้เพื่อบูรณาการกับทุกศาสตร์ ทุกสาขาวิชาที่เปิดสอนในมหาวิทยาลัย ดังนั้นมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชจึงได้น้อมนำเอาพระราชดำริและพระบรมราโชวาทมาปฏิบัติเป็นภารกิจในหลายกรณี เช่น การนำพระราชดำริและพระบรมราโชวาทบรรจุไว้ในหลักสูตร ซึ่งมหาวิทยาลัยมีหลักสูตรการเรียนการสอนที่น้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในรายวิชาศึกษาทั่วไป”

 

รศ.วิมล ดำศรีอธิการบดีมรภ.นครศรีธรรมราชบอกต่อไปว่านอกจากนั้นได้นำต้นแบบการศึกษาที่ทรง ทดลองค้นคว้าด้วยพระองค์เองจนทรงมั่นพระราชหฤทัยว่าเกิดผลดีงามแล้วจึงพระราชทานให้ประชาชนทั่วไป โดยมหาวิทยาลัยได้นำปฏิบัติตามมาสอดแทรกซึมซับครูอาจารย์เพื่อถ่ายทอดสู่นักศึกษา เดินตามรอยพระยุคลบาทเป็นอนุสติที่ใช้ในการเรียนการสอนในหลายสาขาวิชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของสาขาวิชาเกษตร โดยอาจารย์ในหลักสูตรได้น้อมนำเอาต้นแบบที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงคิดค้นมาใช้ประโยชน์กับการจัดการเรียนการสอนคือหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ภายใต้แนวพระราชดำริหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และในการปฏิบัติงานทั้งหลายของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ได้น้อมนำหลักการทรงงานเป็นประทีปธรรมส่องสว่างสู่หนทางแห่งความสำเร็จ ก็คือพระบรมราโชวาท พระราชดำริ ที่ได้พระราชทานแก่ข้าราชการพลเรือน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 ถึงปี พ.ศ. 2550 และอื่นๆ ยึดหลักพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ทรงย้ำว่า การจะทำสิ่งใด จะต้องเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา

"สรุปคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชได้น้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาใช้ ตั้งแต่กระบวนการจัดการเรียนการสอน การบริการวิชาการแก่ชุมชน การปฏิบัติภารกิจตามบทบาทหน้าที่ที่กำหนดไว้ในปรัชญาและปณิธานของสถาบัน"รศ.วิมล ดำศรีกล่าว

มื่อถามว่า มหาวิทยาลัยได้นำความรู้ให้บริการวิชาการ และสนับสนุนชุมชนอย่างไรบ้าง

 

อธิการบดี มรภ.นครศรีธรรมราชบอกว่าได้บริการวิชาการชุมชนเต็มพื้นที่ ดังจะเห็นได้จากที่มหาวิทยาลัยเข้าไปเกื้อกูลโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนซึ่งอยู่ภายใต้ความดูแลของมหาวิทยาลัยทุกอย่าง และในส่วนของกิจกรรมของแต่ละชุมชนก็ได้น้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริไปใช้ประโยชน์ เช่น หลักสูตรบัญชี ได้จัดทำ MOU กับกองทุนหมู่บ้าน โดยมีอาจารย์และนักศึกษาในสาขาวิชาไปให้ความรู้ แนะนำการจัดทำบัญชีในแบบบัญชีครัวเรือนที่ทรงแนะนำไว้ให้รู้จักประหยัดอดออม หรือกิจกรรมทางด้านรู้จักอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการมีส่วนร่วมนำเสนอพระบรมธาตุเจดีย์สู่มรดกโลก ก็น้อมนำพระราชดำริของพระองค์ท่านมาเป็นแนวทางด้วยเช่นกัน

"สำคัญเหนืออื่นใดนักศึกษาซึ่งเป็นผลผลิตของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 อยู่ในจิตใจทุกคน ทุกรุ่น เนื่องจากบุคคลเหล่านี้ได้รับการปลูกฝังจากมหาวิทยาลัยที่ต้องเป็นคนดี คนเก่ง ตามแนวทางดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯและสืบสานพระราชปณิธานโดยบรรจุไว้ในหลักสูตรให้ได้ซึมซับผ่านการอบรมบ่มนิสัยกระทั่งไปทำกิจกรรมจิตอาสาทำประโยชน์ให้สังคม"

 

อธิการบดีมรภ.นครศรีธรรมราชบอกอีกว่า การนำหลักวิชาการไปเกื้อกูลการประกอบอาชีพของชุมชนก็เป็นอีกกระบวนการสำคัญที่มหาวิทยาลัยตั้งปณิธานสืบสานพระราชประสงค์โดยทั้งคณาจารย์นักศึกษาได้นำเอาความรู้ทางวิชาการไปสู่ชุมชนเฉพาะอย่างยิ่งสาขาวิชาเกษตร ได้จัดการเรียนการสอนมุ่งเน้นให้นักศึกษาลงสู่ชุมชน และสาขาวิชาบัญชีก็เช่นกันอย่างที่บอกไปเมื่อสักครู่ ให้ความรู้การจัดทำบัญชีตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแก่กองทุนหมู่บ้าน เน้นให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านในจังหวัดนครศรีธรรมราช

 


คำสำคัญ

สืบสานพระราชปณิธานเศรษฐกิจพอเพียง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง



คุยกับเรา
https://www.nstru.ac.th//resources/content/4/2016-06-20-11-22-390.62449100%201466396559logo_nstru.png 1 ม. 4 ต.ท่างิ้ว อ.เมืองนครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช 80280 มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช (Nakhon Si Thammarat Rajabhat University) เป็นมหาวิทยาลัยในกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2500 ตั้งอยู่ที่ ตำบลท่างิ้ว อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช Nakhon Si Thammarat Rajabhat University 075-392040 www@nstru.ac.th